สีปัสสาวะ ที่บอกเหตุสุขภาพได้อย่างคาดไม่ถึง ชวนสังเกต ‘ฉี่’ ก่อนกดชักโครกทิ้ง
ชีวิตดีขึ้นอีกหลายด้านด้วยการเริ่มสังเกต ‘สีปัสสาวะ’ ของตัวเราเอง เพราะไม่ว่าจะปัสสาวะลงชักโครกที่บ้าน แวะห้องน้ำปั๊ม หรือโถฉี่ตามห้างสรรพสินค้า เป็นธรรมดาที่เราจะรีบกดชักโครกและลุกออกจากการทำธุระโดยเร็ว แต่ช้าก่อน ขอเสียเวลาเพิ่มอีกแค่ 1-2 วินาที ก้มลงดูปัสสาวะเราสักเล็กน้อยแม้ว่าจะไม่ได้มีอาการหน่วงหรือแสบ แต่ลักษณะของปัสสาวะคือสิ่งที่สะท้อนความเฮลตี้ของเราได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าโรคไต เบาหวาน ตับ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ก็สามารถดูได้จากของเสียของเรานี่เอง
เริ่มที่ลักษณะที่พึงประสงค์กันก่อน
🔹 โดยปกติแล้ววัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุจะปัสสาวะกันวันละประมาณ 3-5 ครั้ง รวมแล้วอยู่ในช่วง 1-2 ลิตรไม่เกินนี้
🔹 ส่วนเด็กอายุ 6-12 ขวบ จะปัสสาวะกันวันละ 0.5-1 ลิตร และไม่ควรเกิน 2 ลิตร เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
🔹 ส่วนเด็กอายุ 1-6 ขวบ จะปัสสาวะกันวันละ ⅓ ลิตร และไม่ควรเกิน 1 ลิตร
🔹 สีของปัสสาวะควรเป็นสีเหลืองอ่อนเหมือนฟางข้าว ใส เมื่อขับถ่ายออกมาสดๆ จะมีกลิ่นคล้ายกำยาน
🔹 เพราะฉะนั้นหากแตกต่างไปจากที่กล่าวข้างต้นก็อาจเรียกได้ว่าเราอาจมีปัสสาวะที่ไม่มีคุณภาพ หรือกำลังบ่งบอกว่ากำลังมีโรคบางอย่างที่ต้องดูแลรักษา ลองเริ่มสังเกตกันไปทีละอย่าง
สีปัสสาวะ เฉดไหน บ่งบอกอะไร
🔹 สีใส เกิดจากการดื่มน้ำมากเกินปริมาณความต้องการ ซึ่งก็ไม่ใช่ผลดี โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ที่เกลือแร่บางประเภทจะละลายออกมาทางปัสสาวะมากเป็นพิเศษ จึงควรสังเกตทั้งสีและปริมาณให้ไม่เกินกำหนดในแต่ละวัน ลองลดการดื่มน้ำ หากสีของปัสสาวะยังใสอยู่ ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน ไต หรือการกินยาขับปัสสาวะบางประเภทก็เป็นได้
🔹 สีเหลืองเข้มมาก อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำเนื่องจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป ลองเพิ่มปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันให้มากขึ้น หากยังไม่พบความเปลี่ยนแปลง อาจตั้งข้อสังเกตว่ามีเม็ดเลือดแดงแตกในระบบปัสสาวะ หรือเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปปรึกษาแพทย์ เพราะปัสสาวะที่มีสีเหลืองเข้มมาก อาจมีสาเหตุมาจากโรคไวรัสตับอักเสบ ดีซ่าน การอุดกั้นทางเดินน้ำดี หรือมีน้ำดีออกมาในปัสสาวะ หรือเกิดจากมะเร็งตับชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ หรือตับอ่อนอักเสบก็เป็นได้
🔹 สีเหลืองอมเขียว อย่าเพิ่งตกใจ เพราะเป็นไปได้ว่าเรากินอาหารบางอย่างมากเกินไป เช่น หน่อไม้ฝรั่ง หรือการกินยาบางชนิด ซึ่งถ้าหากหยุดกินแล้วยังไม่ได้ผล อาจลองสังเกตฟองของปัสสาวะเพิ่มเติมว่ามีสีเขียวด้วยหรือเปล่า ถ้าใช่ให้รีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการของโรคดีซ่าน ซึ่งสีเขียวเป็นสีของน้ำดีที่กำลังเริ่มมีปัญหา
🔹 สีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ ลองสำรวจตัวเองก่อนว่าช่วงนี้ได้กินบีตรูต แก้วมังกรแดง หรือแบล็กเบอร์รีมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ แถมยังมีอาการปวดร่วมด้วย อาจเป็นไปได้ว่าระบบทางเดินปัสสาวะมีแผลอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจเป็นนิ่ว มีอาการอักเสบ หรือเป็นสีของประจำเดือนที่ปะปนลงไปในปัสสาวะ ทางที่ดีควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาการของโรคนิ่วในไต มะเร็งที่ไต หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็มีอาการ ‘ฉี่เป็นเลือด’ ร่วมด้วยเช่นกัน
🔹 สีขุ่นคล้ายน้ำนม บางคนอาจมีกลิ่นหนองร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งการดื่มนมที่มากจนเกินไป หรืออาการที่น่ากังวล เช่น มีน้ำเหลืองปนอยู่ในปัสสาวะ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรือผู้ที่มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือหนองใส ก็มีปัสสาวะสีขุ่นได้เช่นกัน
นอกจากนี้แล้วปัสสาวะอาจมีสีอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง เช่น สีดำ, สีน้ำเงิน หรือสีม่วง ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายหรือหยุดยาบางประเภท
กลิ่นฉี่ก็สำคัญ
นอกจากสีแล้ว การสังเกตกลิ่นก็มีส่วนช่วยในการระวังรักษาโรคด้วยเช่นกัน เช่น ปัสสาวะมีกลิ่นน้ำนมแมว อาจเกิดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน แต่ยังไม่ได้ทำการรักษา, กลิ่นเหม็นเน่า อาจเกิดจากอาการติดเชื้อ เพราะมีกลิ่นหนองร่วมอยู่ด้วย, กลิ่นรุนแรงแบบแอมโมเนีย ก็อาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
เพราะฉะนั้นก่อนจะกดชักโครก ลองสังเกตปัสสาวะเพิ่มอีกสักนิด เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที อย่าลืมว่ารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ดีกว่าป่วยหนักแล้วรักษาไม่ทัน จะได้ไม่ต้องเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา และไม่ต้องเจ็บตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น
WEBSITE – www.charnpaiboon.com
FACEBOOK PAGE – facebook.com/charnpaiboongroup
LINE OFFICIAL ACCOUNT – @Rasland