วิวัฒนาการห้องน้ำไทย ในรอบ 250 ปี คุณคือเจนไหน?
1. ทุ่ง ท่า ป่า แม่น้ำ
สำหรับผู้คนโดยทั่วไปในสมัยโบราณ ห้องน้ำก็คือ ทุ่ง ท่า ป่า แม่น้ำ ด้วยวิธีที่ตรงตัวเลยก็คือการเดินเข้าทุ่ง เข้าป่าลับตาคนไปทำธุระส่วนตัว หรือที่อยู่ใกล้แม่น้ำก็จะมีน้ำไว้ทำความสะอาดได้ด้วย
ในสมัยโบราณนั้น ยกเว้นแต่เพียงเหล่าพระสงฆ์ที่มีการสร้างห้องสำหรับขับถ่ายตามพระธรรมวินัยที่ให้ทำกิจกรรมในที่มิดชิด ทุกวันนี้ยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับร่องของของส้วมที่สร้างจากหินแผ่นซ้อนต่อกัน โดยพบในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร
ส่วนชนชั้นสูงจะใช้กระโถนในการขับถ่าย อาจมีห้องกั้นไว้สำหรับการนี้โดยเฉพาะ และจะมีบ่าวไพร่นำไปเททิ้งในแต่ละวัน
2. ส้วมหลุม
เป็นยุคแรกของพัฒนาการ ที่เวลาไปทุ่ง ไปป่า ก็จะขุดหลุมสำหรับถ่ายสิ่งปฏิกูล เมื่อเสร็จธุระก็ฝังกลบไปเพื่อไม่ให้เกิดความสกปรก ซึ่งส้วมหลุมจะอยู่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา โดยเป็นส้วมสำหรับผู้คนทั่วไป ส่วนเจ้านายชนชั้นสูงเริ่มมีการนำเข้าวิวัฒนาการห้องน้ำแบบตะวันตก แม้ว่าจะยังไม่มีระบบประปาใช้ก็ตาม
3. ส้วมถังเท
นับเป็นจุดเปลี่ยนของส้วมในประเทศไทย เพราะใน พ.ศ. 2440 ได้มีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 โดยมีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม เพื่อป้องกันความสกปรก กลิ่นเหม็น และเกิดโรคระบาดตามมา ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงเวลานั้น
ลักษณะของส้วมถังเทเลียนแบบมาจากส้วมหลุม แต่ใช้ถังอยู่ด้านล่างของหลุมแทน ด้านบนเป็นไม้กระดานที่มีช่องเจาะรูเอาไว้ โดยจะมีการกั้นห้องแบ่งเป็นห้องแถวไม้ยาวๆ ราว 5-6 ห้องเพื่อความเป็นกิจจะลักษณะ ทุกๆ วันจะมีการจัดเก็บถังออกไป และเปลี่ยนถังใหม่เข้ามาแทนที่ โดยมีบริษัทสอาดที่ได้รับสัมปทานทำหน้าที่นี้
ส้วมถังเทที่จัดสร้างโดยรัฐจะอยู่ตามถนนสายสำคัญๆ ในพระนคร เช่น ถนนบำรุงเมือง เฟื่องนคร เจริญกรุง แถววัดบวรนิเวศ วัดราชบูรณะ นอกจากนี้ยังมีการสร้างห้องน้ำส้วมถังเทอยู่ตามสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงบริเวณที่พักอาศัยของเจ้านายคนสำคัญอีกด้วย
4. ส้วมคอห่าน / ส้วมซึม
ราว พ.ศ. 2460-2471 เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ จัดโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และมีการรณรงค์ให้คนไทยใช้ส้วม เพราะทั้งส้วมหลุมและส้วมถังเทก็ยังมีกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งแมลงวันชุกชุม
เกิดการประดิษฐ์ส้วมคอห่านเป็นครั้งแรกโดย พระยานครพระราม อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและอุตรดิตถ์ ใช้กลไลท่อปล่อยของเสียข้างใต้ให้เป็นท่อโค้งกลับ ทำให้น้ำยังคงขังอยู่ในคอท่อนั้น ป้องกันกลิ่นและป้องกันไม่ให้แมลงวันตอมสิ่งปฏิกูล เพราะของเสียต่างๆ เมื่อราดน้ำลงไปแล้วจะไหลไปยังบ่อใต้ดิน แต่ข้อเสียคือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่ซึมลงในพื้นดินก็ยังก่อให้เกิดเชื้อโรคได้
ในภายหลังส้วมซึมมีการพัฒนาให้บ่อกักเก็บของเสีย เรียกว่า บ่อเกรอะ ทำจากคอนกรีต ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เข้ามาแทนที่ส้วมหลุ่มและส้วมซึม เป็นที่ใช้งานกันแพร่หลาย
5. ส้วมชักโครก
นับจาก พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จากส้วมซึมที่ต้องใช้น้ำตักราดให้สิ่งปฏิกูลไหลผ่านคอห่านลงไปยังบ่อเก็บกัก ส้วมชักโครกก็มาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำด้วยการมีส่วนถังเก็บน้ำอยู่ด้านบน เวลากดชักโครก น้ำจะวนไหลไล่สิ่งปฏิกูลลงไป
ส้วมชักโครกประดิษฐ์ครั้งแรกโดย เซอร์ จอห์น แฮริงตัน ใน พ.ศ. 2139 แต่ที่เป็นต้นแบบสำหรับชักโครกที่เราใช้งานในทุกวันนี้มาจากการพัฒนาของ อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ใน พ.ศ. 2318 แต่กว่าที่ส้วมชักโครกจะมีใช้งานตามบ้านของคนธรรมดาก็ล่วงเลยไปอีกนาน หรือราวๆ ช่วงต้น พ.ศ. 2500
อ้างอิง
สอบถามเรื่องการติดตั้งและใช้งาน สามารถเพิ่ม ชาญไพบูลย์ เป็นเพื่อนทาง LINE ได้ที่ @Rasland หรือสอบถามรายละเอียดการซื้อสินค้าได้ที่ LINE @Charnpaiboon.sales Telephone number 02-285-5795
ชาญไพบูลย์ ร้านค้าออนไลน์
Shopee: https://bit.ly/3H64bTv
Lazada: https://bit.ly/3LJtpup
กดติดตาม Facebook: ชาญไพบูลย์ l CharnPaiboon และทำความรู้จักแบรนด์ชาญไพบูลย์เพิ่มเติม กับหลักไมล์สำคัญในวาระครบรอบ 50 ปีได้ที่ www.charnpaiboon.com