ชาญไพบูลย์ เคล็ดลับความสำเร็จ ในธุรกิจสุขภัณฑ์
1. Service การบริหารแบบวัยรุ่น
มิชชั่นในด้านบริการของบริษัทคือ ความรวดเร็ว กระฉับกระเฉง และทันสมัย หรือที่ในบริษัทจะเรียกแบบติดปากกันว่า ‘การบริการแบบวัยรุ่น’
“ถ้าลูกค้าต้องการความช่วยเหลือ พนักงานของเราจะรีบแก้ปัญหาให้ทันที ผมเรียกว่าการให้บริการแบบวัยรุ่น ยกตัวอย่างถ้าบ้านของลูกค้ามีน้ำซึมออกจากท่อ แล้วผมถามลูกน้องว่า ลูกค้าโทรมาแจ้งเมื่อไร ถ้าคำตอบคือเมื่อวาน แล้วยังไม่ได้ดำเนินการ ทุกคนจะรู้ว่าซวยแล้ว เพราะปัญหาวันนี้ ต้องแก้ให้ได้ในวันนี้”
2. Teamwork พนักงานคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด
คุณวิล ชาญชนาไพบูลย์ เล่าต่อว่าทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของชาญไพบูลย์คือ ‘พนักงาน’ เนื่องจากสินค้าสุขภัณฑ์หลายประเภทมีเรื่องเทคนิคการใช้ที่จำเป็นต้องมีคนอธิบาย พนักงานขายของชาญไพบูลย์จึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าทุกชิ้น รวมถึงวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงทำห้องเรียนสำหรับเทรนพนักงานที่ประจำอยู่ในร้านค้าที่มีสินค้าของชาญไพบูลย์วางขาย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด
“ถึงแม้วันนี้บริษัทจะเดินทางมาไกลจากวันแรก และมีพนักงานเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่สำหรับผม บรรยากาศในบริษัทยังเป็นเหมือน Family Business ที่ดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว ทำให้มีพนักงานหลายคนที่อยู่กับเรามาเกิน 20 ปีแล้ว และถ้าถามว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาญไพบูลย์ประสบความสำเร็จคืออะไร คำตอบคือเรามีพนักงานที่ดี ผมไม่เคยต้องมาเปิดออฟฟิศตั้งแต่ 8.30 น. เพื่อตามเช็กงาน เพราะทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเดินหน้าด้วยความแข็งแกร่งมาตลอดเวลา 50 ปี”
3. Crisis Management วิกฤตและการแก้ปัญหา
นับตั้งแต่ที่บริษัทชาญไพบูลย์ก่อตั้งในปี 2515 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ใหญ่ๆ หลายครั้ง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยปี 2554 แต่ด้วยการบริหารจัดการที่รอบคอบ ทำให้บริษัทชาญไพบูลย์ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ชาญไพบูลย์ตัดสินใจปรับระบบการทำงานของบริษัทเพื่อให้สอดรับกับการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น นั่นคือการจัดระบบคลังสินค้า
“ผมเชื่อว่าในวิกฤตจะมีโอกาสใหม่ๆ ตามมาด้วยเสมอ” คุณวิลเล่าถึงมุมมองและการจัดการปัญหาว่า “ปัญหาใหญ่ที่เราเคยเจอคือมีช่วงหนึ่งที่ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่หลายๆ แห่งมีการขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ เราจึงต้องเร่งกำลังการผลิตเพื่อส่งสินค้าให้กับทุกคน ซึ่งทำให้บริษัทเจอปัญหาเรื่องการจัดส่งสินค้าไม่ทัน
“ในตอนนั้นเราทำคลังสินค้าเอง ขนาดมีพนักงานประจำโกดัง 60 คน และมีรถขนส่ง 10 คัน แต่ก็ส่งของได้ไม่ทันครับ เนื่องจากมีออเดอร์จากหลายแห่งเข้ามาพร้อมกันทุกวัน ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าฝืนทำเองต่ออาจจะเจอปัญหาหนักกว่านั้น จึงตัดสินใจจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารคลังสินค้า ซึ่งถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิมเท่าตัว แต่ก็ทำให้ผมส่งของได้ตรงกำหนด และมีเวลาไปโฟกัสเรื่องผลิตภัณฑ์มากขึ้น
“เมื่อระบบทุกอย่างเริ่มลงตัว ก็ทำให้เราขายของได้ดีขึ้น วิกฤตในครั้งนั้นจึงสอนผมว่า โอกาสมีอยู่เสมอ อยู่ที่เราจะข้ามผ่านอุปสรรค และจัดการโอกาสที่มีได้ถูกต้องหรือไม่”
WEBSITE – www.charnpaiboon.com
FACEBOOK PAGE – facebook.com/charnpaiboongroup
LINE OFFICIAL ACCOUNT – @Rasland